ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายถึง หลักความรู้อันเกิดจากความสามารถ ประสบการณ์ และความเฉลียวฉลาดในการประดิษฐ์คิดค้นของคนในท้องถิ่น โดยเป็นผลมาจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบานการเรียนรู้ เลือกสรร พัฒนาและถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงคนรุ่นปัจจุบัน เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต การให้ความสำคัญเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม อันเป็นทุนทางสังคมที่มีค่าในอันที่จะส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
องค์การบริหารส่วนตำบลนาบัว ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ต้องทำนุบำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น จึงได้จัดทำ "โครงการเสริมสร้างคุณค่าภูมิปัญญาผู้สูงวัยถ่ายทอดภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ให้กับคนในชุมชน" ในกิจกรรมการมัดหมี่ ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ และเปิดโอกาสในการถ่ายทอดภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ให้กับคนในชุมชน ตลอดจนคำนึงถึงคุณค่าของผู้สูงอายุในฐานะผู้มีประสบการณ์มาก่อน และเป็นผู้สั่งสมภูมิปัญญาของท้องถิ่นในด้านต่าง เพื่อรักษาและต่อยอดคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ถ่ายทอดความรู้สู่คนชุมชนไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
โดยการนำภูมิปัญญาด้านการทอผ้าคราม การมัดหมี่ย้อมคราม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ชาวบ้านได้ยึดถือและสืบทอดกันมายาวนานซึ่งเป็นอาชีพที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดให้กับบุคคลรุ่นหลังจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาบัว โดยใช้วิทยากรเป็นผู้สูงอายุในตำบลนาบัว คือ นางมะลิวัลย์ ยศอ่อน ซึ่งถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านการทอผ้าพื้นเมือง และประธานกลุ่มทอผ้าบ้านหนาด ตำบลนาบัว มาให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทอผ้าพื้นเมือง และยังได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมการมัดหมี่ หนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญของการทอผ้าคราม และยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเสริมสำหรับผู้ที่สนใจได้อีกด้วย