วัดพระธาตุบ้านหนาด
พระธาตุบ้านหนาด
โบราณสถานที่ค้นพบ ณ บ้านหนาด ม.6 ตำบลนาบัว อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เป็นพระธาตุที่เก่าแก่หลายร้อยปี ตามประวัติเดิมเกิดจากการก่อสร้างของขอม วัดบ้านหนาด เป็นวัดร้าง ปรากฏอยู่เพียงร่องรอยของซากโบราณสถานคือ เจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐ โดยหลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ส่วนด้านหน้า หรือด้านทิศตะวันออก มีซากฐานอาคารอิฐบนฐานศิลาแลง อยู่สองหลัง โดยหลังหนึ่งพบว่า มีร่องรอยการปักใบเสมาหินทรายอยู่โดยรอบ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้มีการตั้งวัดพระธาตุบ้านหนาด ขึ้น และได้สร้างอาคารขึ้นสองหลัง บนซากอาคารเดิม ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของซากเจดีย์ก่ออิฐ โดยหลังหนึ่งที่อยู่ทางทิศเหนือ ได้สร้างเป็นอุโบสถ แล้วใช้ใบเสมาหินทรายเดิมบางส่วน ที่ยังคงเหลืออยู่เป็นพัทธสีมา ส่วนอีกหลังหนึ่งสร้างเป็นอาคารศาลาโถง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานอยู่สามองค์ โดยองค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประธานที่มีมาแต่เดิม โบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่สำคัญดังนี้
ซากโบราณสถานพระเจดีย์ก่ออิฐ สูงประมาณ ๘ - ๑๐ เมตร กว้างด้านละประมาณ ๕ - ๗ เมตร ส่วนใหญ่หักพังหมด ตั้งแต่ชั้นฐานขึ้นไป คงเหลือแต่เพียงส่วนที่สันนิษฐานว่าเป็นองค์เรือนธาตุเดิม ซึ่งก่อด้วยอิฐไปฉาบปูน ในลักษณะเรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยม สูงประมาณ ๓ เมตรเศษ ศิลาจารึกหินทรายสีแดง ตัวอักษรเลอะเลือนไปมาก สันนิษฐานว่าเป็นอักษรขอมหรืออักษรไทยน้อยโบราณ มีความกว้างประมาณ ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตร พระพุทธรูปประธานองค์กลาง มีพุทธลักษณะ มีลักษณะทางศิลปะในสกุลช่างล้านช้างหรือเวียงจันทน์ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ ใบเสมาหินทรายแดง ยังคงเหลืออยู่บริเวณอุโบสถหลังใหม่วัดพระธาตุบ้านหนาด ได้รับการประกาศเป็นวัด เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๒
บริวเณตั้งอยู่ ณ บ้านหนาด หมู่ 6 ตำบลนาบัว อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระยะห่างจากตัวเมืองอุดรธานี 38 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอ 22 กิโลเมตร ระยะห่างจากตัวเมืองอุดรธานี 38 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอ 22 กิโลเมตร
ประเพณีสรงน้ำพระธาตุบ้านหนาด
วัดพระธาตุบ้านหนาดเป็นที่ประดิษฐานของหลวงปู่ใหญ่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ราษฎรชาวตำบลนาบัว และบุคคลทั่วไปให้ความเคารพสักการะ จนเกิดเป็นประเพณี "สรงน้ำหลวงปู่ใหญ่พระธาตุบ้านหนาด" เป็นประจำทุกปีช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์